BlackBerry PlayBook ทดสอบเครื่องจริงๆอย่างไม่ลำเอียงการรีวิวในครั้งนี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับท่านที่สนใจใน PlayBook รวมทั้งท่านที่คุ้นเคยกับการใช้งาน iPad และ iPad 2 มาก่อน เนื่องจากมีการเปรียบเทียบกันอยู่หลายส่วน ทั้งในเรื่องของ Hardware และ Software บทความนี้จะยาวหน่อยแต่รับรองว่ามีสาระ ลองเข้ามาอ่านกันก่อนครับ
Hardware
ความรู้สึกในครั้งแรกที่ได้เห็นเครืองนี้ก็คือ PlayBook น่าจะเหมาะสมกับการใช้งานในแนวนอนมากกว่า อาจจะเป็นเพราะรูปทรงของหน้าจอที่มีลัษณะค่อนข้างยาวและแคบ อีกทั้ง Apps บางอย่างที่มีมาในเครื่องก็ไม่สามารถใช้งานในแนวตั้งได้ แถมยังมีโลโก้ BlackBerry วางไว้ในแนวยาวอีกด้วย ความรู้สึกจึงแตกต่างจาก iPad ทั้ง 2 รุ่น ที่มีจอขนาดใหญ่และกว้างกว่า สามารถใช้งานในแนวตั้งได้ดี
หลังจากที่ได้ทดสอบการใช้งาน PlayBook ในแนวนอนไประยะหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่า "ใช่เลย" เพราะสามารถเลื่อนใช้เมนูต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัว และพิมพ์ข้อความบนคีย์บอร์ดได้สะดวกมาก
ในส่วนของความรู้สึกเมื่อได้สัมผัสกับตัวเครื่องนั้น PlayBook ให้ความรู้สึกเหมือนพลาสติกธรรมดาทั่วไป ไม่หรูหราอย่าง iPad ที่ใช้อลูมิเนียมในแผ่นหลัง พอมองโดยรวมก็ยังดูคล้ายกับว่า PlayBook นั้นมีเคสติดอยู่กับเครื่องมาด้วย เพราะส่วนของขอบด้านหน้านั้นนูนสูงกว่าแผ่นจอ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ข้อเสียแต่เป็นเพียงความรู้สึกที่แตกต่างเท่านั้นเอง

ด้านล่างของเครื่อง (การรีวิวนี้จะวางเครื่องในแนวยาว) นั้นมี HDMI port, microUSB port และ Charging port สำหรับวางกับแท่น Rapid Charger

ด้านบนจะมีปุ่มปรับระดับเสียง ปุ่มเล่น/พัก และปุ่มเปิด/ปิดเครื่อง ซึ่งปุ่มเปิด/ปิดเครื่องนี้ได้ถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากว่ามีขนาดเล็กเกินไป แทบจะต้องใช้เล็บจิกในการใช้งาน หรือว่า RIM อาจจะคิดเผื่อไว้ให้ป้องกันการเผลอไปโดนโดยไม่ได้ตั้งใจก็ได้ (ตลกฝรั่งออกแนวกัดนิด ๆ ครับ)
มีอยู่บางอย่างที่ PlayBook ได้ออกแบบมาดีกว่า iPad นั่นก็คือตำแหน่งของลำโพงที่ถูกวางไว้ด้านหน้า ทำให้เสียงที่ออกมามีความชัดเจนแถมมีคุณภาพเสียงที่ดีมากด้วย กล้องหลังก็อยู่แนวกลางพอดีทำให้ใช้งานง่าย แต่กล้องหน้ากลับเอียงไปด้านข้างนิดหน่อย
แม้ว่า PlayBook จะมีขนาดที่เล็กกว่า iPad อยู่มาก ตัวเครื่องหนากว่า iPad 2 เล็กน้อย น้ำหนักก็เบากว่า แต่เมื่อถือไว้ในมือกลับไม่รู้สึกถึงความแตกต่างมากนัก ยกเว้นความกว้างของ iPad ที่รู้อยู่แล้ว
ความละเอียดของจอภาพ 1024x600 WSVGA Capacitive Touch screen ของ PlayBook นั้นมีความคมชัดดี แต่ก็เหมือนกับจอของ iPad ที่ไม่ใช่จอ Retina เช่นกัน
กล้องหลังขนาด 5 MP และกล้องหน้าขนาด 3MP ของ PlayBook นั้น ดีกว่า iPad 2 มากมาย หากนำรูปที่ถ่ายมาเปรียบเทียบกันก็จะเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน อีกทั้งกล้องหน้าและหลังของ PlayBook ก็ยังสามารถถ่ายวิดีโอได้ในระดับ 1080p ด้วย เพราะฉะนั้น PlayBook ชนะ iPad 2 ในเรื่องนี้แบบขาดลอยเลย ส่วนเรื่องประสิทธิภาพของแบตเตอรี่นั้นดีพอ ๆ กัน
Software
เป็นที่รู้กันอยู่ในปัจจุบันว่า ซ็อฟท์แวร์ในเครื่องคือตัวตัดสินที่จะทำให้รุ่งหรือร่วงได้ สำหรับ PlayBook นั้นมีทุนเดิมในเรื่องการใช้งานสไตล์ BlackBerry เป็นตัวช่วย แต่ในเรื่อง Apps อื่น ๆ นอกระบบนั้นถือว่าแพ้ค่ายอื่นแบบราบคาบในตอนนี้
ในส่วนของ OS นั้น ต้องชม RIM ว่าทำได้ดีและใส่ใจในรายละเอียดของการใช้งานเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น การเลื่อนเปลี่ยนรูปใน Photo app นั้นทำได้เนียนมาก หลักการเอาใจใส่ในเรื่องแบบนี้ Apple ได้ใช้มาโดยตลอดและมักจะได้รับความสำเร็จในระยะยาว แต่น่าแปลกใจที่ค่ายอื่น ๆ กลับไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากพอ
การเรียกใช้งานต่าง ๆ บนหน้าจอก็เป็นไปด้วยดี (อย่าลืมว่า PlayBook นั้น ไม่มีปุ่ม Home อย่าง iPad จึงไม่สามารถกดปุ่มเพื่อย้อนกลับไปยังหน้า Home menu ได้) เพียงใช้ปลายนิ้วรูดจากขอบด้านล่างของเครื่องขึ้นไปหนึ่งครั้ง ก็จะกลับไปยังหน้า Home menu และเมื่อรูดขึ้นอีกครั้งหนึ่งก็จะพบกับ Apps ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในเครื่อง ในทางตรงกันข้าม หากเรารูดจากด้านบนลงมาก็จะเข้าไปในหน้า Settings หรือหากกำลังใช้งานใน Apps อยู่ การรูดลงแบบนี้ก็จะเข้าไปสู่หน้าของ Options นั่นเอง

นอกจากนั้นยังมีวิธีรูดจากมุมบนด้านขวามือของตัวเครื่องเพื่อเรียกใช้แถบ Menu ที่มีช่อง เวลา, วันที่, ตัวควบคุม Media Player, ล็อคหน้าจอไม่ให้หมุน, Bluetooth, Wi-Fi, แบตเตอรี่ และ Options รวมอยู่ด้วย ช่วงแรก ๆ อาจจะต้องฝึกฝนกับวิธีรูดนี้สักหน่อย แต่รับรองว่าเมื่อคุ้นเคยแล้ว การใช้งานของ PlayBook จะเป็นไปอย่างสะดวกมาก
ใน OS นี้ยังมี Multitasking ที่พิเศษไปกว่าใน OS ของค่ายอื่น ๆ อีกด้วย นั่นก็คือ ในขณะที่กำลังใช้งานใน App หนึ่งอยู่และต้องการจะข้ามไปใช้ Apps อื่นๆ เราสามารถใช้การรูดขึ้นหนึ่งครั้งเพื่อเรียกดูรายชื่อของ Apps ต่าง ๆ โดย App ที่กำลังใช้งานอยู่นั้น ก็ยังคงทำงานต่อไป เช่นเมื่อกำลังดูหนังอยู่แล้วเรียกแถบรายชื่อ Apps ขึ้นมา หนังนั้นก็ยังคงเล่นต่อไปเรื่อย ๆ หรือหากกำลังเล่นเกมส์อยู่ เกมส์นั้นก็ยังคงดำเนินต่อไป ไม่รู้เหมือนกันว่าวิธีแบบนี้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานของเครื่องได้มากเพียงใด แต่อย่างน้อยก็นับว่าเป็นแนวความคิดที่แปลกใหม่อีกอย่างหนึ่ง
ในขณะที่กำลังใช้งานใน App หนึ่งอยู่นั้น เราสามารถใช้การรูดจากด้านซ้ายหรือขวาก็ได้เพื่อเปลี่ยนหน้าไปดู Apps อื่น ๆ ที่ถูกเปิดค้างไว้อยู่ และสามารถหมุนไปเรื่อย ๆ คล้ายกับการใช้งานของ Multi-Touch Gestures ที่มีอยู่ใน iOS 4.3
Playbook นั้นมาพร้อม Adobe Flash ที่ทาง RIM บอกว่าได้ประสานงานกับ Adobe มาเป็นเวลานานหลายเดือนเพื่อให้ได้มา ซึ่งการใช้งานก็เป็นไปอย่างราบรื่น
ลองมาดูในเรื่องของ YouTube กันบ้าง การเล่นวิดีโอคลิปนั้นไหลลื่นค่อนข้างดีมากแม้เลือกเล่นในโหมด Full screen ก็ตาม อาจจะมีกระกระตุกเล็กน้อย แต่ก็นับว่าดีกว่าที่เคยทดลองมากับเครื่องอื่น ๆ ที่ใช้ Flash เช่นกัน แต่เมื่อลองทดสอบเปิดในเวบที่ใช้ Flash มาก ๆ เช่น ESPN นั้น ก็จะเริ่มพบปัญหาบ้าง เช่น คลิปโฆษณาและคลิปอื่น ๆ ที่เป็นออโต้เพลย์ จะมีส่วนทำให้การโหลดข้อมูลนั้นช้าลงมาก

ปัญหาหลักที่ได้พบนั้นก็คือ Flash ใน PlayBook นั้น ยังไม่ได้มีการปรับเพื่อให้เหมาะกับระบบ Touch screen โดยละเอียด บ่อยครั้งที่เผลอไปโดนลิ๊งค์ที่ซ่อนไว้ในหน้าเวบและถูกพาข้ามไปยังหน้าที่ไม่ต้องการจะเปิด โดยเฉพาะเวลาที่แตะเพื่อเลื่อนลงไปอ่านข้อมูลที่อยู่ด้านล่าง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่ารำคาญมาก
Browser เองก็มีปัญหาเช่นกัน มักจะเจออาการค้างขณะที่กำลังพิมพ์ URL แต่การโหลดกลับดำเนินต่อไปได้ บางครั้งจะค้างนิ่ง ๆ อยู่สักครู่แล้วถึงจะมีหน้าเวบปรากฎขึ้นมา หากเข้าไปยังเวบทั่วไปก็ยังไม่ค่อยมีปัญหาในการโหลดมากนัก แต่หากเจอเวบที่มีข้อมูลแบบซับซ้อนหน่อยก็จะเกิดปัญหามากมาย เช่น Twitter ที่เปิดได้ช้ามากหรือแม้กระทั่งหยุดไปเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่เป็น App ที่มาพร้อมกับเครื่องและอยู่ในหน้าเมนูหลัก
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ หลังจากที่เปิดเข้าไปใน Twitter.com หรือเวบอื่น ๆ ที่มี JavaScript มาก ๆ ไปสักพัก Browser จะหยุดทำงาน แม้ว่าทาง RIM จะยืนยันว่าปัญหานี้จะหมดไปเมื่อมีการอัพเดทซ็อฟท์แวร์ก็ตาม แต่ในช่วงที่ทำการรีวิวนี้ก็ได้รับการอัพเดทซ็อฟท์แวร์มาแล้วถึง 2 ครั้ง และปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดไป สำหรับ FaceBook นั้นก็เป็นอีกเวบหนึ่งที่มี JavaScript มาก แต่กลับไม่พบปัญหาแบบเดียวกันนี้ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ หากหมุนจอในขณะที่เปิดเวบอยู่นั้น จะมีเส้นกระตุกบนหน้าจอคล้าย ๆ กับสัญญาณภาพโทรทัศน์ที่มีปัญหา
หลังจากที่เล่าถึงปัญหาต่าง ๆ มามากมาย ที่นี้มาดูเรื่องดี ๆ ใน PlayBook กันต่อ เริ่มต้นที่วิดีโอ PlayBook สามารถเล่นวิดีโอ 1080p ได้อย่างสบาย ๆ ภาพที่ขึ้นบนหน้าจอก็คมชัดสวยงาม และเมื่อต่อเข้ากับ HDTV ก็จะได้ภาพที่คมชัดอีกด้วย นี่เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับอุปกรณ์ชิ้นเล็ก ๆ อย่าง PlayBook ที่สามารถส่งวิดีโอที่งดงามแบบนี้ไปยัง HDTV ได้ ประสิทธิภาพในเรื่องนี้เทียบเท่ากับ iPad 2 ที่มี Dual-Core processor เป็นขุมพลังเลยทีเดียว และด้วยฟังค์ชั่นพิเศษที่ได้บอกไปแล้วข้างบนว่าขณะที่วิดีโอกำลังเล่นอยู่บน HDTV นั้น เรายังสามารถทำงานอื่นไปพร้อมกันใน PlayBook ได้อีกด้วย
Apps พูดกันตรง ๆ เลยก็คือ RIM นั้นมี apps ของตัวเองอยู่น้อยมาก แม้ว่า RIM เคยประกาศไปว่าระบบสามารถรองรับ Apps จากภายนอกได้ แต่หากมามองดูปัญหาที่เกิดขึ้นใน Twitter นั้น RIM จำเป็นที่จะต้องมี App ของตัวเองให้มากกว่าในปัจจุบันนี้
นอกจาก Apps ทั่วไป เช่น Music player, Photo viewer ฯลฯ ที่มีมาแต่เนิ่นนานนั้น การรีวิวนี้ก็ได้ทดสอบเกมส์เพียง 2 เกมส์จากค่าย EA คือ Need for Speed และ Tetris ซึ่งก็ผ่านไปได้ด้วยดี แม้ RIM จะอ้างว่าในขณะนี้มี Apps ที่อยู่ใน App World Store มากกว่า 3,000 อย่าง และยังมีบริษัทผู้ผลิตจำนวนมากที่เข้ามาสนับสนุน แต่สำหรับผู้ใช้งานนั้น ตัวเลขของ Apps ที่ใช้งานได้เป็นเรื่องจำเป็นมากที่ต้องพร้อมใช้งานได้ทันที ตั้งแต่วันแรกที่ซื้อมา
ความหวังอีกอย่างหนึ่งก็คือ RIM ได้ประกาศไปแล้วว่า ในอนาคต PlayBook จะสามารถใช้งานร่วมกับ Android apps ได้ แต่เท่าที่รู้มานั้นความหวังนี้น่าจะเป็นจริงได้ในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ แต่อยากจะบอกสักนิดว่า หลังจากที่แอบทดลองใช้ Android apps บน PlayBook มาบ้างแล้วนั้น มันสามารถใช้งานได้ดีจริง ๆ ทั้งนี้ต้องยกประโยชน์ให้กับ Processor ตัวแรงใน PlayBook ที่สามารถรัน Android apps ได้อย่างไม่สะดุด แต่ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการปรับ Touch screen ให้ตรงกัน และอย่างอื่นอีกเล็กน้อย ซึ่ง RIM เองก็กำลังใส่ใจในเรื่องนี้อย่างเต็มที่
สิ่งหนึ่งที่ถือว่าเป็นจุดขายหลักของ PlayBook ก็คือ BlackBerry Bridge ความสามารถของมันคือการถ่ายโอนข้อมูลต่าง ๆ เข่น อีเมล์ ตารางนัดหมาย และอื่น ๆ อีกมาก จาก BlackBerry smartphone ไปยัง PlayBook ข้อดีก็คือข้อมูลสำคัญต่าง ๆ นั้น สามารถตั้งค่าให้มีการป้องกันสูงสุด เพื่อไม่ให้มีการรั่วไหลไปได้ เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ใน BlackBerry ณ ปัจจุบัน และ BlackBerry Bridge ก็ยังเข้ามาเพิ่ม Apps ที่มีประโยชน์ซึ่งไม่มีให้มาใน PlayBook เช่น Messages, Calendar, Contact และอื่น ๆ ได้อีกด้วย การ Pairing นั้นจะต้องผ่าน Bluetooth เท่านั้น สำหรับลูกค้าของ RIM นั้นจะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติมไปจากแพ็คเกจที่เปิดบริการไว้อยู่แล้ว
Overall
โดยรวมแล้วถือว่า RIM ทำได้ดีสำหรับความตั้งใจในการผลิต Tablet เครื่องแรก แต่ปัญหาก็คือ RIM จะต้องเผชิญกับอุปสรรคเดียวกันเหมือนกับ Tablet จากค่ายอื่น ๆ และนั่นก็คือ Apple iPad 2
หากถามว่า PlayBook นั้นสามารถเทียบชั้นกับ iPad 2 ได้ไหมในตอนนี้ เพียงแค่มองจากจำนวน Apps ต่าง ๆ ที่ซัพพอร์ตอยู่และปัญหาที่มีใน Web browser นั้น คำตอบก็คือ ยังไม่ได้ แต่ RIM เองก็ฉลาดพอที่จะใช้ BlackBerry Bridge เป็นพระเอกในการนำเสนอ PlayBook สำหรับผู้ใช้งานในระดับองค์กร ที่คำนึงถึงความปลอดภัยในการรับส่งข้อมูลเป็นหลัก หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนการนี้ ยอดขายของ PlayBook ก็อาจจะพุ่งไปได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว
มามองดูในเรื่องราคาขายกันบ้าง หาก RIM ยังคงยืนราคาของ PlayBook ที่เท่ากับ iPad 2 นั้น คงจะยากมากที่ RIM จะแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนของลูกค้าทั่วไปได้ หรือถ้าหาก RIM สามารถไปเจรจากับ Google เพื่อให้ช่วยแบกรับภาระในส่วนของ Android apps (ที่กำลังถูกปรับให้สามารถใช้งานกับ BlackBerry) ไว้บ้างนั้น ก็อาจจะช่วยให้มีหนทางที่ RIM จะสามารถปรับราคา PlayBook ลงมาได้อีก แต่นั่นคงจะเป็นไปไม่ได้เลย ลองมาคิดกันเล่น ๆ ว่า หาก Google เข้าไปหนุน RIM แบบเต็มตัว ต่อไปคงจะมีสถิติใหม่สำหรับเครื่องที่ไม่ใช่สายเลือดของ Android แต่กลับมียอดขายที่ดีกว่า Android เพียงเพราะว่า เครื่องนั้นสามารถใช้ Android Apps ต่าง ๆ ได้
เรื่องจริงที่น่าปลื้มก็คือ ตลอดเวลาที่ได้มีการทำรีวิว PlayBook เครื่องนี้อยู่นั้น RIM ได้ส่งการอัพเดทซ็อฟท์แวร์มาหลายครั้ง และนั่นแสดงให้เห็นว่า RIM ไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาต่าง ๆ ที่มีอยู่ และได้พยายามปรับปรุงอย่างเต็มที่ หากทุกอย่างยังดำเนินไปในลักษณะนี้ PlayBook ในปัจจุบันอาจจะกลายเป็น Tablet ที่สมบูรณ์แบบในอีก 6 เดือนข้างหน้าก็เป็นได้
แล้วทำไมถึงไม่รอให้ทุกอย่างมันลงตัวก่อนที่จะวางขายล่ะ นั่นเป็นคำถามที่ดี และนั่นก็น่าจะเป็นคำถามเดียวกันระหว่าง Motorola และ Google ในช่วงที่กำลังผลิต Xoom ความเป็นจริงก็คือ ขณะนี้สงคราม Tablet ได้เริ่มขึ้นแล้ว และพวกที่กล้าเข้ามาสู้รบเป็นกลุ่มแรกนั้น อาจจะยังพอมีสิทธิ์ลุ้นที่จะต่อกรกับ Apple ได้ รวมทั้ง RIM เองก็ยังมีฐานลูกค้าที่นิยมใช้ BlackBerry smartphone อยู่ในมืออีกด้วย และนั่นก็คือเหตุผลที่ RIM ใช้ประโยคในการโฆษณาว่า "นี่คือ Tablet สำหรับมืออาชีพเครื่องแรกของโลก" นับว่าเป็นการใช้คำพูดที่ชาญฉลาดมาก ตอนนี้เหลือเพียงสิ่งเดียวที่ RIM ต้องทำ นั่นก็คือ จะต้องทำอย่างไรที่จะให้คนอื่นคิดในแบบเดียวกันด้วย